วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

คณะกรรมาธิการฯสัมมนาคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็กจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปปัญหาและความต้องการเสนอรัฐบาลกำหนดนโยบายช่วยเหลือ

ข่าว สงขลา / คณะกรรมาธิการฯสัมมนาคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็กจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปปัญหาและความต้องการเสนอรัฐบาลกำหนดนโยบายช่วยเหลือ

วันนี้(21เม..55) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการติดตามการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน คุณภาพชีวิต การบริการสาธารณสุข และสถานภาพตรี ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสัมมนาเรื่อง กระบวนการพัฒนาและคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็กจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี รศ.ทัศนา บุญทอง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเวทีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและระดมความคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาและคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็กใจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากตัวแทนของเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกเหล่ากาชาด และตัวแทนตรี รวมทั้งหญิงหม้ายจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้รับรู้ถึงปัญหา และกำหนดเป็นนโยบายในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

รศ.ทัศนา บุญทอง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ เผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกว่า 8 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและรัฐเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กซึ่งได้รับผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อม จนต้องกลายเป็นหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า เนื่องจากผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ปกครองของเด็กตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จึงทำให้สตรีบางส่วนต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยปริยาย และต้องแบกรับภาระเป็นกำลังหลักในการเลี้ยงดูบุตรหลานรวม ทั้งสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ซึ่งเกินกว่ากำลังของผู้หญิงที่จะแบกรับภาระทั้งหมดเอาไว้ได้

ดังนั้นมิติในการพัฒนาและคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็ก ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาและคุ้มครองจากทางภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมองไปถึงการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้หญิงและเด็กด้วย

นอกจากนั้นจากการศึกษาและติดตามยังพบว่า เด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีระดับไอคิวที่ต่ำที่สุดในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในทุกๆด้าน แต่เด็กกลับด้อยไอคิว โดยเรื่องดังกล่าวทั้งหมดนี้ทางคณะกรรมาธิการจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย มาตรการและกลไกในการส่งเสริม การพัฒนา และการคุ้มครองสถานภาพสตรีและเด็กต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...