วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการศึกษาทางเลือกของแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ (ครั้งที่ 2) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / กรมทางหลวง จัดประชุมสรุปผลการศึกษาทางเลือกของแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ (ครั้งที่ 2) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  พร้อมแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้(10เม.ย.57) เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ปลัดจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาทางเลือกของแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ (ครั้งที่ 2) การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการลงทุน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 100 คน  นายชัยทิศ พิเศษสกลกิจ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ(กรมทางหลวง) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนกาญจนวนิช) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นมากขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งเกิดความล่าช้า อีกทั้งเส้นทางสายนี้ถือเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญระหว่างประเทศและการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กรมทางหลวงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้วางแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สาย อ.หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ทำการศึกษาไว้แล้วเมื่อปี 2548 ซึ่งผลการศึกษาขณะนั้นยังไม่มีความเป็นไปได้ทางการเงินและการลงทุน โดยเสนอแนะให้ทำการศึกษาอีกครั้งก่อนการดำเนินโครงการ จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง และขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าเกิดความคล่องตัว สะดวก ปลอดภัย ตลอดจนความสามารถในการแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวทางและคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมของโครงการ ตลอดจนการนำเสนอความก้าวหน้าของผลการศึกษาด้านต่างๆ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

 


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...