วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา จัดประชุมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน “จังหวัดปลอดภัยทางถนน” ครั้งที่ 4 หวังลดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และความพิการ

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม สงขลา / ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา จัดประชุมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน "จังหวัดปลอดภัยทางถนน" ครั้งที่ 4 หวังลดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และความพิการ

วันนี้(31ก.ค.55) เวลา 09.30 น. ที่ แขวางการทางสงขลา ถ.ปละท่า อ.เมือง จ.สงขลา ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา ได้จัดให้มีการประชุมขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน บริหารจัดการความรู้ ความเสี่ยงสู่บันไดหลัก "จังหวัดปลอดภัยทางถนน" ครั้งที่ 4 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา สถานีตำรวจภูธรและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ฯลฯ

ว่าที่ร้อยตรีธีระ  สันติเมธี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา (ปภ.เขต 12สงขลา) ในฐานะประธานการประชุม เปิดเผยว่า ทาง ปภ.เขต 12 สงขลา เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบการอำนวยการ ประสานการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.สตูล จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนหากเทียบกับภาคอื่นๆจะน้อยกว่า แต่หากเปรียบเทียบกันในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าจังหวัดสงขลาเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งทางด้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนโยบายในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานทั้งในช่วงเทศกาลและช่วงเวลาปกติ  โดยเน้นย้ำใน 4 มาตรการ ประกอบด้วย การมอบหมายให้แต่ละพื้นที่มีการตรวจสอบความปลอดภัยในท้องที่และชุมชนของตนว่าบริเวณไหนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พร้อมทั้งให้หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เกิดจากถนนชำรุด เกิดจากการไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง และให้เร่งแก้ไขโดยเร็วต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ใช้รถใช้ถนน , การรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 % โดยมีการขยายต่อไปอีก 3 ปี(พ.ศ.2555-2557) และกำหนดเป้าหมายให้เพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยอย่างน้อยร้อยละ 20 , การดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และการเพิ่มการบังคับใช้การตรวจจับความเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการปรับลดความเร็วในชุมชน เช่น บริเวณตลาด โรงเรียน ฯลฯ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และความพิการให้ได้มากที่สุดต่อไป

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...