มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา “ทางออก...ยางพาราไทย”
ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนา "ทางออก...ยางพาราไทย"
บ่ายวันนี้(3ก.ย.56) ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดการเสวนา "ทางออก...ยางพาราไทย" โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 100 คน รศ.ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราของประเทศที่ลดต่ำลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 60 จังหวัด การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางสามารถทำได้ตั้งแต่การผลิตในระดับต้นและกลางน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหายางพารา คือ การนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่ในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกในรูปวัตถุดิบ คือ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และรูปแบบอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 86 สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 336,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยางพาราใช้มากในอุตสาหกรรมยางล้อ คิดเป็นร้อยละ 70 รองลงมา คือ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารามีความสัมพันธ์โดยตรงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่การนำยางพารามาใช้ประโยชน์สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ถนนยางมะตอย , แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น , สนามกีฬาฟุตซอล พื้นยางภายในอาคาร ซึ่งหากมีการผลักดันอย่างจริงจังก็จะทำให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศในปริมาณมาก และยังสามารถลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยางฟองน้ำเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์จากยางพารา สามารถนำไปทดแทนฟองน้ำสังเคราะห์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้ รศ.ดร.บัญชา สมบูรณ์สุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ รัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันยางเป็นระบบ และจะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ เพื่อการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในระยะยาวต่อไป