วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

เหตุอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลาไม่เป็นไปตามเป้า

ข่าว สงขลา / เหตุอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลาไม่เป็นไปตามเป้า 

นายมาวิทย์ อัศวอารีย์  นักวิชาการประมงชำนาญการ รักษาการหัวหน้ากลุ่มวิจัยการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง  สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีปัญหาในเรื่องของการเกิดอุทกภัยพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ทำให้ระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลาเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อการเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา  เนื่องจากพ่อแม่พันธุ์ปลาขี้ตังที่ใช้ในการผสมเทียมจะต้องรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเลสาบสงขลาค่อนข้างจะมีปัญหา  เมื่อนำมาฉีดผสมเทียมกระตุ้นด้วยฮอร์โมนทำให้ได้ไข่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังมีผลผลิตน้อยกว่าทุกปีไม่ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้  สำหรับการแก้ปัญหา เมื่อเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังได้แล้ว  ก็จะนำลูกพันธุ์ปลาที่ได้มาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงจะสามารถควบคุมคุณภาพของพ่อแม่พันธุ์ปลาได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองเลี้ยง  แต่พ่อแม่พันธุ์ปลาที่เราทดลองเลี้ยงยังให้ไข่ไม่ค่อยดี คาดว่าคงจะเกี่ยวกับในเรื่องของอาหารของพ่อแม่พันธุ์ที่จะต้องมีการศึกษาต่อไป นายมาวิทย์ อัศวอารีย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความต้องการลูกปลาขี้ตังของเกษตรกรยังคงมีอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น  แต่ขณะนี้ทางสถาบันฯผลิตลูกปลาได้ยังไม่ถึงเป้า ซึ่งปีนี้ทางสถาบันฯตั้งเป้าในการผลิตลูกปลาขี้ตังไว้ที่ 5 หมื่น ถึง 1 แสนตัว เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรส่วนหนึ่งและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ทะเลสาบสงขลาส่วนหนึ่ง สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาขี้ตังในทะเลสาบสงขลาก็จะเป็นพื้นที่ที่เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายมาสั่งจองพันธุ์ปลาขี้ตังนำไปเลี้ยง ปลาโตเร็วและขายไปแล้วหลายรุ่น โดยนำปลาขี้ตังไปเลี้ยงในกระชังในบ่อกุ้งทิ้งร้าง ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานประมาณ 7 เดือน ปลาได้ขนาด 7-8 ตัว/กก. มีอัตรารอดตายประมาณ 90 % ขายได้กก.ละ 250 บาท 

 

 

 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...