วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นักวิชาการประมง ระบุสาเหตุปลากะพงขาวในกระชังที่เกาะยอตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากติดเชื้อพยาธิภายนอกและเชื้อแบคที่เรียภายใน

ข่าว สันติภาพ รามสูต / นักวิชาการประมง ระบุสาเหตุปลากะพงขาวในกระชังที่เกาะยอตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากติดเชื้อพยาธิภายนอกและเชื้อแบคที่เรียภายใน ส่วนสาเหตุจากการเกิดโรคเนื่องจากปลามีความเครียดและความอ่อนแอจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมแนะแนวทางแก้ไข

         จากกรณีที่ปลากะพงขาวในกระชัง  บริเวณหมู่ที่ 1 ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ลอยตายเป็นจำนวนมากเกลื่อนกระชังกว่า 100 กระชัง ตั้งแต่ขนาด 8  - 12 นิ้ว อายุในการเลี้ยง  2 - 5 เดือน น้ำหนักประมาณ  2550 กรัม ผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังกำลังได้รับความเดือดร้อนและประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปลาตายเกลื่อนกระชังเป็นรายวัน และลอยหัวเตรียมที่จะตายอีกเป็นจำนวนมาก และนักวิชาการประมงจากสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง   สถาบันวิจัยสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลาและสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้เข้ามาดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำ ดูสภาพแวดล้อมและเก็บตัวอย่างปลาที่กำลังลอยหัวใกล้จะตายเพื่อนำไปทำการตรวจโรค  ดูสภาพแวดล้อมทั่วไป  แล้วนำมาประมวลผลทั้งหมด เมื่อวันที่ 19  ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา

         ในวันนี้ (29ต.ค.55) นายสหัส  ปาณะศรี  หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ทางสำนักงานฯได้รับแจ้งผลการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุการตายของปลากะพงขาวที่เกาะยอ เนื่องจากการติดเชื้อพยาธิภายนอกหลายชนิด ได้แก่  ปลิงใส กระสวย 2 หาง เห็บระฆัง  เหาน้ำ เกาะติดบริเวณลำตัวและเหงือกของปลากะพงเป็นจำนวนมากและการติดเชื้อแบคทีเรียพวก vibrio ที่อวัยวะภายในที่ตับและไต ซึ่งโดยปกติปลามักเกิดโรค เนื่องจากมีความเครียดและความอ่อนแอ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตก เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำและอุณหภูมิ หรือสิ่งแวดล้อมในแหล่งเลี้ยงไม่เหมาะสม หรือการเลี้ยงปลาที่หนาแน่น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ปลาอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย ส่วนผลการตรวจวัดคุณสมบัติของน้ำพบว่า ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำที่วัดได้มีค่าค่อนข้างต่ำ คือ  4.424.81 มิลลิกรัมต่อลิตร

         สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง   จึงได้แนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังที่เกาะยอ คือ ทำเลที่ตั้งของกระชังเลี้ยงปลาควรเป็นที่ที่มีการไหลหมุนเวียนของกระแสน้ำได้ดี , ฤดูกาลของการเกิดโรค เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงฤดูกาลที่ปลาเกิดโรคบ่อยๆ เช่น ช่วงฤดูฝน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งความเค็มและปริมาณสารอินทรีย์  , ความหนาแน่นของปลาในกระชังและปริมารของกระชังเลี้ยงปลา เป็นปัจจัยที่ทำให้ปลามีความเครียดและมีการสะสมของเสียในบริเวณนั้น และสิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงปลาในกระชังมาก คือ สภาพแวดล้อมในแหล่งเลี้ยงเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำ

อย่างไรก็ตามทางสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง   สถาบันวิจัยสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลาและสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง อบต.เกาะยอ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง มาร่วมกันหารือแบบบูรณาการเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเร็ว  ก่อนที่ชาวเกาะยอจะไม่มีที่เลี้ยงปลาจากสภาพแวดล้อมในแหล่งเลี้ยงปลาในกระชังที่นับวันจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ

 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...