วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยูนิเซฟ ร่วมกับโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดโครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านสถานการณ์ของเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / ยูนิเซฟ ร่วมกับโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดโครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านสถานการณ์ของเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้

วันนี้(26มิ.ย.56) เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรม บี.พี.สมิหลา บีชฯ อ.เมือง จ.สงขลา องค์การยูนิเซฟ ร่วมกับโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านสถานการณ์ของเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นประธานเปิดการประชุม และมี นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ปลัดจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ

ผศ.พัชรียา ไชยลังกา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ปัญหาสตรีและเด็กในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่องค์การยูนิเซฟได้ทำการศึกษาปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ.2548 ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสตรีและเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่าเด็กและสตรีในพื้นที่ต้องเผชิญปัญหาหลายรูปแบบในด้านวิถีชีวิตและสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยมีสาเหตุมาจากความรุนแรงจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สตรีและเด็กมุสลิมต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรง อันส่งผลถึงการสูญเสียบุคคลที่รัก ทรัพย์สิน สุขภาพร่างกายและจิตใจ การละเมิดสิทธิรวมทั้งการตกเป็นเหยื่อการก่อการร้าย ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ร่างกายและบาดแผลทางจิตใจ แต่ยังไม่ครอบคลุมอีกหลายด้าน เช่น ภาวะสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก โภชนาการ โรคเอดส์ และการศึกษา ดังนั้น โครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จึงได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ โภชนาการ โรคเอดส์ การศึกษาและการกระตุ้นพัฒนาการ การพิทักษ์สิทธิเด็ก และเด็กพิการ โดยได้รับงบประมาณจากองค์การยูนิเซฟ เพื่อศึกษาปัญหาและสถิติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของสตรีและเด็ก รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายการวิจัยและข้อมูลทางวิชาการด้านสถานการณ์ของสตรีและเด็ก เป็นการสร้างเครือข่ายการวิจัย กระบวนการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อไป


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...