วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

อารจารย์คณะเภสัช มอ.หาดใหญ่ พบสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งในใบชะมวงเป็นครั้งแรก

           ข่าว สงขาล / อารจารย์คณะเภสัช มอ.หาดใหญ่ พบสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งในใบชะมวงเป็นครั้งแรก รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ อาจารย์และผู้อำนวยการสถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ นักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ ศึกษาวิจัยคุณสมบัติในการมีฤทธิ์ต้านมะเร็งของพืชผักพื้นบ้านที่นำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะผักพื้นบ้านภาคใต้ และสามารถแยกสารต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจาก "ใบชะมวง" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยทำการศึกษาต้นคว้าอยู่เป็นเวลา 2 ปี ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับอย่างมากในวงวิชาการ

 

               การศึกษาวิจัยเริ่มจากการเก็บรวบรวมพืชผักพื้นบ้านจำนวน 22 ชนิด เพื่อนำมาสกัดและทดสอบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคในทางเดินอาหารหรือไม่ โดยพบว่าชะมวงเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด จึงได้นำมาแยกสารที่ต้องการ จนสามารถได้สารตัวหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ในระดับดีมาก มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ หรือ MIC ประมาณ 7.8 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สิ่งที่สำคัญคือหลังจากหาสูตรโครงสร้างแล้ว พบว่าสารตัวนี้เป็นสารใหม่ที่ไม่เคยมีใครรายงานมาก่อนในโลก จึงตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" (chamuangone) เพื่อให้แสดงว่ามาจากประเทศไทย ต่อจากนั้นได้มีการศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวร์ เพื่อนำไปสู่การศึกษาการยับยั้งเซลมะเร็งต่อไป โดยได้นำไปทดสอบกับกลุ่มโปรโตซัวร์ Leishmania major ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่เคยพบระบาดในภาคใต้ของไทยมาแล้ว พบว่าสารชะมวงโอน สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งโปรโตซัวร์ Leishmania major ได้ดี จึงได้นำ"ชะมวงโอน" ไปทดสอบกับเซลมะเร็งปอดและเซลมะเร็งเม็ดเลือดขาว และพบว่าสารชะมวงโอนมีในการต้านเซลมะเร็งได้ฤทธิ์ดี

 

               อย่างไรก็ตาม การนำสารดังกล่าวไปใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง อาจจะต้องมีกระบวนการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน เช่น ศึกษาการมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติหรือไม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงสูตรโครงสร้าง เพื่อการรักษาที่ได้ผลมากขึ้นหรือเพื่อลดอาการข้างเคียงในการใช้ยา

 

               ผลจากความสำเร็จในการค้นคว้าครั้งนี้ คือ การได้โครงสร้างใหม่ของสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เพื่อจะได้มีการดัดแปลงพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น และลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ และพบว่า การที่สังคมไทยใช้ใบชะมวงมาประกอบอาหารแสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่ปลอดภัย และอาจจะมีส่วนในการช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารและมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการที่คนไทยรู้จักนำใบชะมวงมาต้มกับหมูนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ดีเลิศ เพราะพบว่าสารชะมวงโอนสามารถละลายในไขมันได้ดีกว่าละลายในน้ำธรรมดา

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...