วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

สกว.ผนึกกำลังกับจังหวัดสงขลา หาแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / สกว.ผนึกกำลังกับจังหวัดสงขลา  หาแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

วันนี้(30ก.ย.56)  เวลา 09.00 น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ จังหวัดสงขลา  จัดประชุมเพื่อระดมสมอง "แนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง : กรณีจังหวัดสงขลา" ขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมราชมังคลา พาวีเลียน บีช อ.เมือง จ.สงขลา โดยมี นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการเปิดงาน และ ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน

สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งผ่านข้อมูลงานวิจัย ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างความวิตกกังวลและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ชายหาด เนินทราย ป่าชายเลน และทัศนียภาพชายฝั่งที่สวยงาม ทั้งนี้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสคลื่นลม ระดับน้ำทะเล ซึ่งปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การบุกรุกป่าชายเลน ความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง การปรับถมพื้นที่ชายฝั่ง การก่อสร้างโครงสร้างชายฝั่งที่ไปกีดขวางหรือปรับเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำ การลดลงของโคลนตมและมวลทรายที่ไหลลงสู่ทะเล การทรุดตัวของแผ่นดิน รวมถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นตัวการสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกๆ ปี  จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2554) พบว่า ตั้งแต่ปี 2495-2551 จังหวัดสงขลามีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วทั้งสิ้น 6 อำเภอ 28 ตำบล (จากจำนวน 16 อำเภอ 127 ตำบลของทั้งจังหวัด) เป็นแนวชายฝั่งถูกกัดเซาะในระดับรุนแรง 13.43 กม. ระดับปานกลาง 41.09 กม. รวม 54.52 กม. จัดเป็นจังหวัดที่แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะเป็นอันดับ 4 ของประเทศรองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี ตามลำดับ และแม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยศึกษาในประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก แต่ผลงานวิจัยก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากที่สุด สำหรับการตัดสินใจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดกิจกรรมครั้งขึ้น โดยร่วมกับจังหวัดสงขลา

 


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...