วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จังหวัดสงขลา ประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มฯ ภาพรวมยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2- 3 วัน ทำให้น้ำในลำน้ำหลักมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข่าว-ภาพ สุธิดา พฤกษ์อุดม / จังหวัดสงขลา ประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มฯ ภาพรวมยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2- 3 วัน ทำให้น้ำในลำน้ำหลักมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

วันนี้(20พ.ย.56) เวลา 14.00 น. ที่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก อ.เมือง จ.สงขลา นางสาวพะเยาว์ เมืองงาม นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก เป็นประธานการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 4/2556 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง  อาทิ  ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตัวันออก , สำนักชลประทานที่ 16 / โครงการชลประทานสงขลา , สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 , ปภ.เขต 12 สงขลา , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา  เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า  20 คน

นางสาวพะเยาว์ เมืองงาม นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ  เปิดเผยว่า  ลักษณะอากาศโดยทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย และกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียตอนบนและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ลงสู่ทะเลอันดามันประมาณวันที่ 21-22 พ.ย.56 ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีฝนเกือบทั่วไปและมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย.56 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดดังกล่าวระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในช่วงเวลาดังกล่าว  สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว ด้าน รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า  ในภาพรวมขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดสงขลายังมีฝนตกค่อนข้างหนักต่อเนื่องอีกประมาณ 3 วัน ทำให้น้ำในลำน้ำหลักมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เตรียมรับมือหย่อมความกดอากาศต่ำที่กำลังผ่านเข้ามาอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งทุกหน่วยงานได้มีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือในการรับมือปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นไว้พร้อมแล้ว  ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้มีการตั้งสถานีเตือนภัยไว้ จำนวน 27 สถานี ซึ่งส่วนใหญ่จะ ติดตั้งอยู่บริเวณชายเขา พื้นที่ลาด โดยใช้เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแบบโทรมาตร และจะมีการแจ้งเตือนใน 3 ระดับ (สีเขียว-สถานการณ์ปกติ , สีเหลือง-เฝ้าระวัง และสีแดง-อพยพ) โดยมีหลักการทำงานซึ่งจะมีการแจ้งเตือนจากที่ตั้งสถานี และจะมีผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมแล้ว เป็นผู้เตือนประชาชนในหมู่บ้านใกล้สถานีต่อไป  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการไม่ประมาท จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ติดตามการพยากรณ์อากาศประจำวันอย่างใกล้ชิด หรือ เข้าชมข้อมูลลักษณะอากาศได้ที่ www.songkhla.tmd.go.th

 

 

 

 

 

 

 

 


Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...