วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดโครงการ “สร้างองค์ความรู้เครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย” ประจำปี 2557

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดโครงการ "สร้างองค์ความรู้เครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย" ประจำปี 2557 หวังลดความเสียหายและผลกระทบต่อการประกอบอาชีพตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

วันนี้(27พ.ค.57) เวลา 10.30 น. ที่ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดโครงการ "สร้างองค์ความรู้เครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย" ขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2557 โดยมี นายดลเดช พัฒนรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการฯ มี ร.ต.อ.ตุนุพล พันสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยสมาชิกเครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 500 คน  นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดโครงการฯในครั้งนี้  เพื่อให้เครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน และประชาชนทั่วไปได้รับองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติ และระบบการเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เข้าใจถึงขั้นตอนวิธีการแจ้งข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้อย่างถูกต้อง เข้าใจถึงการใช้งานการดูแลรักษาเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติได้ติดตั้งไว้ตามพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น พร้อมรับทราบถึงภารกิจและการทำงานในการแจ้งเตือนภัยโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีต่างๆกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ช่วยสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติซึ่งจะช่วยลดความเสียหายและผลกระทบต่อการประกอบอาชีพตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง "ผลกระทบของภัยพิบัติในพื้นที่" และการฝึกซ้อมการปฏิบัติการด้านการเตือนภัยและการสื่อสาร เพื่อเตรียมความพร้อมโดยมีการซักซ้อมสร้างความเข้าใจระหว่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกับเครือข่ายศูนย์เตือนภัยภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพการประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันอีกด้วย

 

 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...