วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สารก่อมะเร็งกว่า 42 ชนิด ภัยร้ายใกล้ตัวจากบุหรี่ ด้าน สคร.12 แนะทุกภาคส่วนร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

               ข่าว สงขลา / สารก่อมะเร็งกว่า 42 ชนิด ภัยร้ายใกล้ตัวจากบุหรี่ ด้าน สคร.12 แนะทุกภาคส่วนร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" เพื่อตระหนักให้เห็นความสำคัญของพิษภัยจากบุหรี่ทั้งจากตัวผู้สูบ และคนรอบข้าง สำหรับประเทศไทยบุหรี่ได้คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 40,000 ราย โดยบุหรี่ 1 มวน มีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารเคมีจำนวนมากที่เป็นสารพิษ สารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรม และสารก่อมะเร็ง อาทิ นิโครตอน เป็นสารที่ทำให้คนติดบุหรี่ ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมอง ทั้งเป็นตัวกระตุ้น และกดประสาทส่วนกลาง / ทาร์ หรือ น้ำมันดิน ประกอบด้วยสารหลายชนิด เกาะกันเป็นสีน้ำตาล ทาร์เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งหลอดลม, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ ซึ่งร้อยละ 50 ของทาร์ จะไปจับที่ปอด ทำให้เกิดการระคายเคือง อันเป็นเหตุของการไอเรื้อรังมีเสมหะ / แคดเมียม เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมโพลิเมอร์อิเล็กโทรนิคส์ และเป็นสารประกอบที่อยู่ในถ่านไฟฉายด้วย มีผลกระทบต่อตับ ไต และสมอง / สารหนู เป็นสารเคมีที่ประกอบอยู่ในจำพวกผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และฟอมาลดีไฮด์ ซึ่งรู้จักกันดีโดยเป็นสารที่ใช้ใน การดองศพ เป็นต้น

               โดยอาการของผู้ที่สูบบุหรี่ เริ่มตั้งแต่การมีผมขาวก่อนวัยอันควร เกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมือ ขา และเท้าน้อย ทำให้มือ และเท้าเย็น เป็นโรคผิวหนัง ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง เกิดมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง กระดูกพรุน แตกร้าวง่าย โรคหลอดเลือดในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เส้นเลือดตีบและอุดตัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และไต เป็นหมัน หมดสมรรถภาพทางเพศ มะเร็งปากมดลูก โอกาสมีบุตรต่ำ รวมถึงมีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น ซึ่งการสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลต่อผู้สูบโดยตรงแล้วยังทำให้ผู้อื่นที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปเกิดอันตรายเช่นเดียวกันด้วย

               ด้าน ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สำหรับการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องโทษ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และช่วยกันรณรงค์ให้กลุ่มเด็ก เยาวชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้มีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ นำไปสู่การเกิดจิตสำนึกที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน      

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...