วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เข้าพิสูจน์ซากโลมาอิรวดีเพศผู้ หลังชาวประมงพบเกยตื้นตายเป็นตัวที่ 4 ในรอบปีอยู่ริมเขื่อนชลประทาน

                 ข่าว สงขลา / เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เข้าพิสูจน์ซากโลมาอิรวดีเพศผู้ หลังชาวประมงพบเกยตื้นตายเป็นตัวที่ 4 ในรอบปีอยู่ริมเขื่อนชลประทาน สถานการณ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ยังคงมีการตายอยู่อีก แต่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ล่าสุดในวันนี้ (27 ก.ค. 57) นายวีระชัย ชูเขียว ชาวประมงออกเรือไปทอดแหจับปลาในทะเลสาบสงขลาพื้นที่ ม.4 ต.โรง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา พบโลมาอิรวดีเพศผู้ อายุ 15 ปี ความยาว 2 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม เกยตื้นตายอยู่ริมเขื่อนชลประทานในทะเลสาบสงขลา จำนวน 1 ตัว และได้แจ้งให้ทางประธานกลุ่มอนุรักษ์โลมาอิรวดี บ้านแหลมหาดทราบ และทางกลุ่มฯ ได้แจ้งให้ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง มารับไปผ่าซากพิสูจน์หาสาเหตุการตาย

                 จากการตรวจสอบพบว่า ตายมาแล้ว ประมาณ 5 วัน ท้องแตก สภาพเน่าเปื่อยไม่พบร่องรอยการติดอวนเครื่องมือการทำประมง  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้นำซากมาผ่าพิสูจน์เก็บตัวอย่าง ตับ ไต เนื้อ เพื่อตรวจชิ้นส่วนอวัยวะภายในนำมาวิเคราะห์หาโลหะหนัก และสาเหตุการตาย ก่อนที่จะนำซากไปฝังโดยห่อหุ้มด้วยอวนไนล่อนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อรอเก็บกระดูกนำมาศึกษาวิจัยต่อไป สำหรับสถานการณ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ในปี 2557 ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2556 มีโลมาอิรวดีตาย 7 ตัว และสำหรับในปีนี้ 2557 ตัวนี้ตายเป็นตัวที่ 4

                 นายสันติ นิลวัตน์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เปิดเผยว่า การตายของโลมาอิรวดีตัวนี้ เป็นตัวที่ 4 ในรอบปี 2557 (ม.ค.- ก.ค.) อายุ 15 ปี สำหรับสถิติการตายของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เมื่อปี 2553 โลมาตายไป 13 ตัว ปี 2554 โลมาตายไปอีก 10 ตัว ปี 2555 โลมา ตายไป 14 ตัว ปี 2556 โลมา ตายไป 7 ตัว และสำหรับในปีนี้ 2557 ตัวนี้เป็นตัวที่ 4 สำหรับสาเหตุการตายยังไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากสภาพซากโลมาเน่าเปื่อย

                 ทั้งนี้ จึงอยากขอความร่วมมือชาวประมงที่ทำการประมงอยู่ในทะเลสาบสงขลา ถ้าพบเห็นซากโลมาที่เกยตื้นอยากให้รีบแจ้งมา เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปถึงโดยเร็ว สามารถทำให้เราพิสูจน์ซากได้ง่ายขึ้น เพื่อจะได้นำผลการพิสูจน์ซากส่วนนี้ นำไปทำการวางมาตรการเพื่ออนุรักษ์ดูแลโลมาในทะเลสาบสงขลาต่อไป

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...