วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ผู้เชี่ยวชาญสังกัดผู้ว่าการ กฟผ. เผยสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ ธัญวรรณ จิระโร / ผู้เชี่ยวชาญสังกัดผู้ว่าการ กฟผ. เผยสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ

            วันนี้(25ก..57) เวลา 13.00 น. ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายชัยพร พิมมะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญสังกัดผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พร้อมด้วย นายบัญญัติ พัทธธรรม ประธานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช ร่วมให้สัมภาษณ์ในรายการ "หนึ่งถ้วยกาแฟ" ซึ่งออกอากาศทางคลื่นความถี่ F.M.90.5 MHz. ดำเนินรายการโดย นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ  นายชัยพร พิมมะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญสังกัดผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 2,600 เมกกะวัตต์ แต่สามารถผลิตได้เองประมาณ 2,300 เมกกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องมีการส่งกระแสไฟฟ้าจากทางเหนือมาช่วยภาคใต้ ประมาณ 600 เมกกะวัตต์ และซื้อจากมาเลเซียอีก 300 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 70 ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่รับมาจากต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงานได้ จึงมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยจะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และจะมีการเปิดขนานเครื่องในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มไฟฟ้าในระบบของโรงไฟฟ้าจะนะ 1 จากเดิม 800 เมกกะวัตต์ เป็น 1,600 เมกกะวัตต์ เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย  อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทาง กฟผ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 3 ครั้ง โดยในครั้งแรกจะมีการชี้แจงถึงที่มาที่ไปของโครงการฯให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและพี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างละเอียดและค่อยๆดำเนินการในขั้นตอนต่อไป  ด้าน นายบัญญัติ พัทธธรรม ประธานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฯ กล่าวว่า  หาก กฟผ. ดำเนินการอย่างในปัจจุบัน ตนเองมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ขอให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้กันในชีวิตประจำวันอย่างชัดเจนต่อไป

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...