วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

กทพ. ร่วมกับที่ปรึกษาจัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ที่จังหวัดสงขลา

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / กทพ. ร่วมกับที่ปรึกษาจัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูล เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ที่จังหวัดสงขลา

            วันนี้ (17 มกราคม 2557) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมบุรีศรีภูบูทีค โฮเทล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  นายพิภพ  ฟู่เจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจ และออกแบบเบื้องต้นทางพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ  เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ.2558  กทพ. ได้มีการขานรับนโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ด้วยแนวคิดที่จะให้มีการทางพิเศษเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งหวังให้ทางพิเศษ  ของไทยเป็นสี่แยกของ AEC อยู่บริเวณด่านชายแดนทั้ง 4 จุด คือ แม่สาย แม่สอด มุกดาหาร และสะเดา โดยมีรูปแบบการให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) เช่น ภาษี การผ่านแดน ค่าธรรมเนียม พื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ และวางแผนที่จะนำระบบ ETC โดยใช้บัตร Easy Pass เข้ามาใช้ในการเก็บค่าผ่านทางระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสะดวก รวดเร็ว ในการคมนาคมและการผ่านแดนระหว่างประเทศ จึงจัดให้มี "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจ และออกแบบเบื้องต้นทางพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ" เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของรูปแบบธุรกิจให้บริการด้วยระบบทางพิเศษออกสู่เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์แก่สมาชิกประชาคมอาเซียน  สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ ระยะเวลาการศึกษาโครงการ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางด้านสังคม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นห่วงกังวลในประเด็นด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบทางด้านสังคม โดยมีกรอบการดำเนินงานในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 - 24 กรกฎาคม 2557 ซึ่ง ณ ปัจจุบันการศึกษาได้ดำเนินงานมาแล้วทั้งสิ้น 6 เดือน การศึกษาในส่วนงานทบทวนต่าง ๆ และการสำรวจพื้นที่เป็นที่แล้วเสร็จสมบูรณ์  สำหรับการจัดสัมมนากลุ่มในวันนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะข้อมูลและข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนักวิชาการจะช่วยกำหนดทิศทาง รวมถึงการวางแผนยุทธศาสตร์ให้สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาการดำเนินงานของ กทพ. แล้วยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิอีกด้วย

 

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...