จังหวัดสงขลา เร่งดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก
ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม / จังหวัดสงขลา เร่งดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในจ.สงขลา ขณะนี้ ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง บางอำเภอพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในระยะนี้มีฝนตกในพื้นที่ จ.สงขลาและพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ไปจนถึงปลายปี 2556 จากรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 26 ส.ค.2556 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรวม 5,597 ราย เสียชีวิต 11 ราย โดย จ.สงขลา มีอัตราป่วยสูงเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย (รองจาก จ.เชียงราย เชียงใหม่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน เลย และกระบี่) อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดได้แก่ อ.สะเดา รองลงมา คือ อ.คลองหอยโข่ง หาดใหญ่ นาหม่อม จะนะ และเทพา ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 23.1 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 18.0 และกลุ่มอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 15.9 โดยเป็นนักเรียนนักศึกษาถึงร้อยละ 57.1 ส่วนสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ( ณ วันที่ 20 ส.ค.2556) มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมปี 2556 รวมจำนวน 106,148 ราย เสียชีวิต 101 ราย นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ให้ได้ผลคือ ความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันยุงกัด กำจัดลูกน้ำยุงลาย และกำจัดยุงลายตัวเต็มวัย รวมทั้ง การดูแลเฝ้าระวังสุขภาพเมื่อป่วยเป็นไข้และสงสัยจะเป็นไข้เลือดออก หรือเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว เพื่อป้องกันภาวะช็อกที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ดังนั้น ระยะนี้ หากมีไข้สูง 2 วันแล้วไข้ไม่ลดลงให้รีบไปโรงพยาบาล นอกจากนี้ ประชาชนกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการไข้เลือดออกที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้มีโรคประจำตัว อ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะซีดจากธาลัสซีเมีย และผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากมีไข้ในระยะนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากมีอาการไข้ระยะนี้ ให้เช็ดตัวเพื่อลดไข้และกินยาพาราเซตามอล ห้ามกินยาลดไข้ประเภทแอสไพริน และไอบูโปรเฟน เพราะจะกัดกระเพาอาหารและทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ทั้งนี้ จ.สงขลาได้แจ้งย้ำข้อสั่งการของศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออกกระทรวงสาธารณสุขให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับทราบและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้มีการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยในด้านการป้องกันควบคุมโรคให้เน้นการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม 5 ส. เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ,การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ให้ดำเนินการอย่างเข้มขึ้นในทุกหมู่บ้านเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์,และการฆ่ายุงตัวแก่ ในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วย โดยการพ่นเคมีกำจัดยุง 2 ครั้ง พ่นครั้งแรกในวันที่ได้รับรายงานว่าพบผู้ป่วย และครั้งที่สองวันที่ 7 นับจากการพ่นครั้งแรก ส่วนด้านการรักษา เน้นให้มีการวินิจฉัย รักษา และส่งต่อที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการตาย นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายของโรคและรีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งการใช้ยาลดไข้ให้ปลอดภัย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกครอบครัว ให้ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป